บทสัมภาษณ์

คุณปฎล รัตนชุม  ผู้ช่วยนักวิจัย โครงการศึกษาขีดความสามารถอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทย
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์

Q : ไม่ทราบว่าเคยใช้บริการรถไฟไทยไหมครับ ถ้าเคย ล่าสุดไปใช้เมื่อไรครับ
A : เคยครับ เป็นรถไฟโดยสารเนื่องจากบ้านอยู่พัทลุง เวลาจะต้องเดินทางกลับบ้าน บางครั้งก็ใช้บริการรถไฟโดยใช้เป็นตู้นอน เพราะต้องการที่จะนอนให้สบายเวลากลับบ้าน ซึ่งจะไม่เหมือนรถทัวร์ที่จะไม่สบายเวลานอน ซึ่งล่าสุดที่ใช้บริการก็เมื่อประมาณสองเดือนที่ผ่านมาครับ

Q : ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพไปพัทลุงกี่ชั่วโมงครับ และเทียบกับรถทัวร์เป็นยังไงครับ
A : ถ้าเป็นรถไฟใช้เวลา 12 ชั่วโมงครับ ออกจากหัวลำโพง 18.00 น. ถึง พัทลุง 6.00 น. ส่วนรถทัวร์ใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมงครับ

Q : แล้วรถไฟถึงตรงเวลาไหมครับ
A : ไม่เคยตรงเวลาเลย ส่วนใหญ่จะlate

Q : แล้วคุณคิดว่าทำไมมันถึงช้ากว่ากำหนดครับ
A : อาจจะเป็นเพราะต้องรอเวลาเข้าสถานีหรือบางครั้งต้องชะลอรถในบางจังหวะเพื่อให้ขบวนอื่นผ่านไปก่อน มีบางครั้งหัวรถจักรเสียด้วย

Q : แล้วรู้สึกอย่างไรกับรถไฟไทยในปัจจุบันเมื่อเทียบกับอดีต
A : รู้สึกแย่ลง รถก็เก่าสกปรกมากกว่าเดิม นั้นแสดงให้เห็นถึงการไม่พัฒนารถไฟของประเทศไทยเลย นับจากครั้งแรกที่ผมเคยใช้บริการรถไฟก็เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย

Q : แล้วคิดอย่างไรกับการขนส่งสินค้าทางรถไฟครับ
A : เป็นการขนส่งสินค้าในหนึ่งเที่ยวที่ได้ปริมาณมากและค่าขนส่งถูก เหมาะสำหรับสินค้าที่บรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ แต่ข้อเสียคือไม่ได้ส่งลักษณะdoor to door และยังไม่เป็นที่นิยมในประเทศไทยมากนักเพราะการรถไฟของไทยไม่เอื้อให้กับผู้ประกอบการ

Q : ถ้าคุณมีอำนาจในการปรับปรุงการรถไฟเพื่อการขนส่งสินค้า คุณจะทำอย่างไรบ้าง
A : แน่นอนเลย สิ่งที่ผมจะทำเป็นอย่างแรก คือ จะทำเป็นรางคู่ เพราะจะทำให้รถไฟไม่ต้องหยุดรอกัน และเมื่อเป็นรางคู่ก็จะสามารถเพิ่มหัวรถจักรได้ คือถ้ายังคงเป็นรางเดี่ยว ถึงแม้จะเพิ่มหัวรถจักรเข้าไปแต่รางยังไม่พอ ก็ต้องหยุดรอกันอยู่ แต่ผมก็อยากจะศึกษาความเป็นไปได้ในเรื่องในการสร้างรางกว้าง 1.435 เมตรขนานคู่ไปกับรางเดิม คือปัจจุบันรางบ้านเราเป็นรางขนาด 1 เมตร ซึ่งไม่ใช้ขนาดมาตรฐานที่ประเทศเจริญแล้วใช้กัน ซึ่งรถที่ใช้ก็จะเป็นขนาดปัจจุบัน ทำให้ความเร็วของรถไฟก็มีความเร็วจำกัด แต่ถ้าเป็นรางมาตรฐานหัวรถจักร แคร่ ก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้น จะสามารถทำความเร็วได้มากกว่าปัจจุบัน ส่งผลให้การขนส่งเร็วขึ้นด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องศึกษาความเป็นไปได้ก่อน ดูข้อดี ข้อเสีย เพราะการจะทำตรงนี้ต้องใช้การลงทุนมหาศาล